จุดกำเนิดและประวัติการตีพิมพ์ ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์

"ดิเอลิฟันต์เฮาส์" ร้านกาแฟในเอดินบะระที่โรว์ลิงเขียนส่วนแรกของแฮร์รี่ พอตเตอร์

ใน พ.ศ. 2533 เจ. เค. โรว์ลิงอยู่ในรถไฟที่มีคนเนืองแน่นจากแมนเชสเตอร์ไปยังลอนดอน เมื่อแนวคิดแฮร์รี่ "ตกลงมาใส่หัวของเธอ" ทันใดนั้นเอง โรว์ลิงเล่าถึงประสบการณ์บนเว็บไซต์ของเธอโดยระบุว่า

ฉันเคยเขียนค่อนข้างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่อายุได้หกขวบ แต่ฉันไม่เคยตื่นเต้นกับแนวคิดไหนมาก่อน ฉันเพียงแค่นั่งลงและคิด เป็นเวลาสี่ (รถไฟล่าช้า) ชั่วโมง และทุกรายละเอียดก็ผุดขึ้นในสมองของฉัน และเด็กชายผอมกะหร่อง ผมดำ สวมแว่นตาผู้ไม่รู้ว่าตนเองเป็นพ่อมดนี้ก็ค่อย ๆ กลายเป็นจริงขึ้นสำหรับฉัน[42]

โรว์ลิงเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์เสร็จใน พ.ศ. 2538 และต้นฉบับถูกส่งไปยังตัวแทนผู้ซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือหลายคน (prospective agent)[43] ตัวแทนคนที่สอง คริสโตเฟอร์ ลิตเตล เสนอเป็นตัวแทนเธอและส่งต้นฉบับไปยังสำนักพิมพ์บลูมส์บรี หลังสำนักพิมพ์อื่นแปดสำนักปฏิเสธศิลาอาถรรพ์ บลูมส์บรีเสนอค่าตอบแทนล่วงหน้าเป็นเงิน 2,500 ปอนด์แก่โรว์ลิงเป็นค่าจัดพิมพ์[44][45] แม้เธอจะไม่ได้วางกลุ่มอายุเป้าหมายไว้ในใจเมื่อเริ่มต้นเขียนหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ สำนักพิมพ์เดิมตั้งเป้าไว้ที่เด็กอายุระหว่างเก้าถึงสิบเอ็ดปี[46] วันก่อนวันจัดพิมพ์ โรว์ลิงได้รับการร้องขอจากสำนักพิมพ์ให้ใช้นามปากกาที่ไม่บ่งบอกเพศมากกว่านี้ เพื่อดึงดูดกลุ่มอายุที่เป็นชายมากขึ้น ด้วยกลัวว่าพวกเขาอาจไม่สนใจอ่านนวนิยายที่พวกเขารู้ว่าผู้หญิงเขียน เธอเลือกใช้ชื่อ เจ. เค. โรว์ลิง (โจแอนน์ แคทลีน โรว์ลิง) โดยใช้ชื่อย่าของเธอเป็นชื่อที่สอง เพราะเธอไม่มีชื่อกลาง[45][47]

แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (Harry Potter and the Philosopher's Stone) ได้รับตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลูมส์บรี ผู้จัดพิมพ์หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ทุกเล่มในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2540[48] และวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2541 ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สกอแลสติก สำนักพิมพ์หนังสือของอเมริกา ในชื่อ Harry Potter and the Sorcerer's Stone หลังโรว์ลิงได้รับเงิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนสำหรับหนังสือเด็กโดยนักเขียนที่ขณะนั้นยังไร้ชื่อ[49] ด้วยกลัวว่าผู้อ่านชาวอเมริกันจะไม่เชื่อมโยงคำว่า "philosopher" (นักปราชญ์) กับแก่นเรื่องเวทมนตร์ (แม้ศิลานักปราชญ์จะเกี่ยวข้องกับการเล่นแร่แปรธาตุก็ตาม) สกอแลสติกจึงยืนยันว่าหนังสือควรให้ชื่อนี้สำหรับตลาดอเมริกัน

หนังสือเล่มที่สอง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 และในสหรัฐอเมริกาวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2542 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันตีพิมพ์อีกหนึ่งปีให้หลังในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 และในสหรัฐอเมริกา 8 กันยายน ปีเดียวกัน[50] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนีตีพิมพ์เมื่อ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 เวลาเดียวกันทั้งบลูมส์บรีและสกอแลสติก[51] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์เป็นหนังสือเล่มยาวที่สุดในชุด ด้วยความหนา 766 หน้าในรุ่นสหราชอาณาจักร และ 870 หน้าในรุ่นสหรัฐอเมริกา[52] ตีพิมพ์ทั่วโลกในภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2546[53] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสมตีพิมพ์วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ทำยอดขาย 9 ล้านเล่มในการวางขาย 24 ชั่วโมงแรกทั่วโลก[54][55] นิยายเล่มที่เจ็ดและสุดท้าย แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550[56] ทำยอดขาย 11 ล้านเล่มในช่วงวางขาย 24 ชั่วโมงแรก แบ่งเป็น 2.7 ล้านเล่มในสหราชอาณาจักร และ 8.3 ล้านเล่มในสหรัฐอเมริกา[57]

การแปล

แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูตฉบับภาษายูเครน

หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นอีกอย่างน้อย 73 ภาษา[3] เล่มแรกนั้นได้รับการแปลเป็นภาษาละตินและภาษากรีกโบราณ[58] โดยเป็นงานเขียนภาษากรีกโบราณที่ยาวที่สุดนับแต่นวนิยายของเฮลิโอโดรัสแห่งอีเมซาในคริสต์ศตวรรษที่ 3[59] ทำให้โรว์ลิงเป็นผู้ประพันธ์ที่ผลงานได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นมากที่สุดในโลก[60] การแปลหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นมีความยากลำบากหลายประการ เช่น จากการถ่ายทอดวัฒนธรรมโรงเรียนประจำแบบอังกฤษ การใช้ภาษาที่แสดงถึงบุคลิกภาพหรือสำเนียง รวมถึงการคิดค้นศัพท์ใหม่ ๆ ของผู้แต่งด้วย[61]

นักแปลบางคนที่ได้รับว่าจ้างมาแปลหนังสือนั้นเป็นผู้ประพันธ์มีชื่อเสียงก่อนมีผลงานกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ อาทิ วิกตอร์ โกลูเชฟ ผู้ควบคุมการแปลหนังสือเล่มที่ห้าเป็นภาษารัสเซีย การแปลหนังสือเล่มสองถึงเจ็ดเป็นภาษาตุรกีอยู่ภายใต้การดูแลของเซวิน ออคเย นักวิจารณ์วรรณกรรมและผู้บรรยายวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยม[62] ด้วยเหตุผลด้านความลับ การแปลสามารถเริ่มต้นได้เฉพาะหลังหนังสือนั้นออกมาในภาษาอังกฤษแล้วเท่านั้น ซึ่งทำให้รุ่นภาษาอังกฤษถูกขายให้แก่แฟนที่รอไม่ไหวในประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษมากขึ้นทุกที จนทำให้เล่มที่ห้าในชุดกลายมาเป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกและเล่มเดียวที่ขึ้นเป็นที่หนึ่งของรายการหนังสือขายดีในฝรั่งเศส[63]

รุ่นสหรัฐอเมริกาของนวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ต้องผ่านการดัดแปลงข้อความเป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเสียก่อน เพราะคำหลายคำและหลายแนวคิดที่ใช้โดยตัวละครในนวนิยายนั้นอาจไม่เป็นที่เข้าใจแก่ผู้อ่านชาวอเมริกัน[64]

ผลงานในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับแปลภาษาไทยได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ในขณะที่ฉบับภาษาอังกฤษได้ออกมาแล้วสี่เล่ม โดยต้องเร่งแปลหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งสี่เล่มให้เสร็จโดยเร็วเพื่อง่ายต่อการแปลแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่ห้า ซึ่งโรว์ลิงยังเขียนไม่เสร็จ มีผู้แปลทั้งสิ้นสามคน ได้แก่ สุมาลี บำรุงสุขแปลเล่มที่หนึ่ง สอง ห้า หกและเจ็ด วลีพร หวังซื่อกุลแปลเล่มที่สาม และงามพรรณ เวชชาชีวะแปลเล่มที่สี่ หน้าปกฉบับภาษาไทยนั้นใช้ภาพแบบเดียวกับหน้าปกฉบับอเมริกัน ซึ่งเป็นผลงานของแมรี กรองด์เปร

ใกล้เคียง

แฮร์รี่ พอตเตอร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ (ภาพยนตร์ชุด) แฮร์รี่ พอตเตอร์ (ตัวละคร) แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม (ภาพยนตร์) แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (ภาพยนตร์) แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ภาค 2 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ (ภาพยนตร์) แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ภาค 1 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี

แหล่งที่มา

WikiPedia: แฮร์รี่ พอตเตอร์ http://www.cbc.ca/arts/story/2006/06/26/rowling-po... http://www.alibris.com/search/books/qwork/1198169/... http://www.arthuralevinebooks.com/awards.asp http://www.bbc.com/news/entertainment-arts-3466071... http://www.bloomsbury.com/harrypotter/ http://www.bloomsbury.com/harrypotter/default.aspx... http://www.boston.com/news/globe/editorial_opinion... http://www.boxofficemojo.com/alltime/days/?page=op... http://www.boxofficemojo.com/alltime/weekends/ http://www.boxofficemojo.com/alltime/world/